การบาดเจ็บ, คำแนะนำออนไลน์ และความรับผิดชอบต่อสังคม

เนื่องด้วยเทรนด์รักสุขภาพกำลังมาแรง บวกกับตลาดออนไลน์ที่โตอย่างรวดเร็ว เราจึงได้เห็นหลายๆคนกระโจนเข้ามาสู่วงการนี้ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ ต่างสร้างสรรค์ข้อมูลความรู้ คำแนะนำดีเยอะแยะให้ได้เลือกอ่านกัน ทั้งการดูแลตัวเอง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ฟิตหุ่น แนะนำการวิ่ง โยคะ และอีกมากมาย แต่มีสิ่งหนึ่งที่พักหลังเริ่มจะเห็นค่อนข้างบ่อย คือเรื่องเกี่ยวกับการรักษาการบาดเจ็บ การบริหารแก้อาการต่างๆ ซึ่งส่วนตัวเป็นนักกายภาพบำบัดที่ทำงานเรื่องรักษาการบาดเจ็บ จะเจอเคสบ่อยมากที่ไปทำตามท่าที่ส่งๆกันมาตามsocial แล้วมีการบาดเจ็บหนักขึ้น จึงอยากจะมาขอทำความเข้าใจและแชร์มุมมองจากผู้รักษาให้ลองคิดกันดู ในประเด็นของการบาดเจ็บ, คำแนะนำออนไลน์ และความรับผิดชอบต่อสังคม การบาดเจ็บการดูแลสุขภาพร่างกายแบ่งออกเป็นมิติใหญ่ๆ 4 ด้านคือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ในสองส่วนแรกนั้นเป็นช่วงที่ยังไม่มีการบาดเจ็บเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้สอนการออกกำลังกายชนิดไหนก็ตามก็คงผ่านการเรียนรู้มาว่าทำอย่างไรให้สามารถออกกำลังกายได้โดยไม่เจ็บ หรือการออกกำลังเพื่อป้องกันการบาดเจ็บต่างๆ (injury prevention) แต่ถ้าเกิดมีการบาดเจ็บขึ้นมาแล้วล่ะ จะเป็นบทบาทหลักของส่วนงานรักษาฟื้นฟู (หรือที่คนเรียกว่า “แก้อาการ”) ซึ่งแต่ละคนมีสาเหตุและความรุนแรงต่างกัน ในส่วนนี้จะเป็นหน้าที่หลักของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีทักษะการตรวจร่างกาย หาสาเหตุ ประเมินความรุนแรงว่ามากน้อยแค่ไหน คัดกรองอาการร้ายแรงและให้การรักษาให้ดีขึ้น ดังนั้นเมื่อมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นเราจะรู้ว่าเจ็บแบบนี้สามารถแก้ได้เองด้วยการบริหาร หรือควรหยุดพัก!! และให้การรักษาอย่างอื่นที่เหมาะสม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความปลอดภัยในการรักษาและความรับผิดชอบต่อคนไข้ ในการให้การรักษาอย่างใดอย่างนึงเราจะคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ว่าทำแล้วจะไม่เป็นอันตราย เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า ”ถึงรักษาไม่ดีขึ้น แต่อย่างน้อยเราก็จะไม่ทำให้อาการแย่ลง” เพราะแต่ละคนตอบสนองต่อการรักษาไม่เหมือนกัน จึงทำให้การรักษาแต่ละอย่างนั้นค่อนข้างละเอียดอ่อนอย่างมากเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดและเป็นลักษณะเฉพาะบุคคล […]